กัตตุกัมยตาฉันทะ : ความพอใจคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ, ความต้องการที่จะทำ ได้แก่ ฉันทะที่เป็นกลางๆ ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ ต่างจากกามฉันทะที่เป็นแต่ฝ่ายชั่ว
กาม : ความใคร่, ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่, กามมี ๒ คือ ๑.กิเลสกาม กิเลสที่ทำให้ใคร่ ๒.วัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่ ได้แก่กามคุณ ๕ - sense desire; desire; sensuality; an object of sensual enjoyment; sensual pleasures.
กามคุณ : ส่วนที่น่าปรารถนาน่าใคร่ มี ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ที่น่าใคร่ น่าพอใจ
กามฉันท์ : ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น, ความพอใจในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (นิวรณ์ข้อ ๑) - sense desire; excitement of sensual pleasure.
กามราคะ : ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม, ความใคร่กาม - sensual passion; sensual lust; sense-desire; sensuality.
กามารมณ์ : 1.อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้แก่กามคุณ ๕ นั่นเอง 2.ภาษาไทย มักหมายถึงความรู้สึกทางกาม
กามาสวะ :
อาสวะคือกาม, กิเลสดอง อยู่ในสันดานที่ทำให้เกิดความใคร่ ดู อาสวะ
ฉันทะ : 1.ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่สิ่งนั้นๆ, ความรักงาน (เป็นกลางๆ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี, เป็นอัญญสมานาเจตสิกข้อ ๑๓, ที่เป็นอกุศล เช่นในกามฉันทะ ที่เป็นกุศลเช่น ข้อ ๑ ในอิทธิบาท ๔) 2.ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย, เป็นธรรมเนียมของภิกษุ ที่อยู่ในวัดซึ่งมีสีมารวมกัน มีสิทธิที่จะเข้าประชุมทำกิจของสงฆ์ เว้นแต่ภิกษุนั้นอาพาธจะเข้าร่วมประชุมด้วยไม่ได้ ก็มอบฉันทะคือแสดงความยินยอมให้สงฆ์ทำกิจนั้นๆ ได้
ฉันทาคติ : ลำเอียงเพราะรักใคร่ (ข้อ ๑ ในอคติ ๔)
ตัณหา : ความทะยานอยาก, ความดิ้นรน, ความปรารถนา, ความเสน่หา มี ๓ คือ ๑.กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่ารักใคร่ ๒.ภวตัณหา ความทะยากอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ๓.วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย
ธรรมกามะ : ผู้ใคร่ธรรม, ผู้ชอบตริตรองสอดส่องธรรม
ธัมมกามตา :
ความเป็นผู้ใคร่ธรรม, ความพอใจและในใจในธรรม, ความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาธรรม และใฝ่ในความดี ดู นาถกรณธรรม
นาถกรณธรรม : ธรรมทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง, คุณธรรมที่ทำให้ตนได้ มี ๑๐ อย่าง คือ ๑.ศีล มีความประพฤติดี ๒.พาหุสัจจะ ได้เล่าเรียนสดับฟังมาก ๓.กัลยาณมิตตตา มีมิตรดีงาม ๔.โสวจัสสตา เป็นคนว่าง่าย ฟังเหตุผล ๕.กิงกรณีเยสุ ทักขตา เอาใจใส่กิจธุระของเพื่อนร่วมหมู่คณะ ๖.ธัมมกามตา เป็นผู้ใคร่ธรรม ๗.วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร ๘.สันตุฏฐี มีความสันโดษ ๙.สติ มีสติ ๑๐.ปัญญา มีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
บ่วงแห่งมาร : ได้แก่ วัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่น่าพอใจ
เบญจกามคุณ : สิงที่น่าปรารถนาน่าใคร่ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย)
ปฏิพัทธ์ : เนื่องกัน, ผูกพัน, รักใคร่
ปัญจพิธกามคุณ : กามคุณ ๕ อย่าง คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่น่าชอบใจ
เพื่อน :
ผู้ร่วมธุระร่วมกิจร่วมการหรือร่วมอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน, ผู้ชอบพอรักใคร่คบหากัน, ในทางธรรม เนื้อแท้ของความเป็นเพื่อน อยู่ที่ความมีใจหวังดีปรารถนาดีต่อกัน กล่าวคือ เมตตา หรือไมตรี เพื่อนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ เรียกว่า มิตร การคบเพื่อนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเสื่อมความพินาศ หรือสู่ความเจริญงอกงาม พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียมและเลือกคบหาคนที่เป็นมิตรแท้ ดู มิตตปฏิรูป, มิตรแท้
มุญจิตุกัมยตาญาณ : ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย, ความหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย คือ ต้องการจะพ้นไปเสียจากสังขารที่เบื่อหน่ายแล้ว ด้วยนิพพิทานุปัสสนาญาณ (ข้อ ๖ ในวิปัสสนาญาณ ๙)
ราหุล : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ คราวพระพุทธเจ้าเสด็จนครกบิลพัสดุ์ ราหุลกุมารเข้าเฝ้าทูลขอทายาทสมบัติตามคำแนะนำของพระมารดา พระพุทธเจ้าจะประทานอริยทรัพย์ จึงให้พระสารีบุตรบวชราหุลเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา อรรถกถาว่าพระราหุลปรินิพพานในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก่อนพุทธปรินิพพาน และก่อนการปรินิพพานของพระสารีบุตร
โลกามิษ : เหยื่อแห่งโลก, เครื่องล่อ ที่ล่อให้ติดอยู่ในโลก, เครื่องล่อใจให้ติดในโลก ได้แก่ ปัญจพิธกามคุณ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ; โลกามิส ก็เขียน
วัตถุกาม :
พัสดุอันน่าใคร่ ได้แก่กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ ดู กาม
วิปัสสนาญาณ : ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี ๙ อย่าง คือ ๑.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป ๒.ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา ๓.ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ ๕.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย ๖.มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย ๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง ๘.สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ๙.สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจ
อนิฏฐารมณ์ : อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา, สิ่งที่คนไม่อยากได้ไม่อยากพบ แสดงในแง่ตรงข้ามกับกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าชอบใจ แสดงในแง่โลกธรรม ได้แก่ ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ การนินทา และความทุกข์ เทียบ อิฏฐารมณ์
อิฏฐารมณ์ : อารมณ์ที่น่าปรารถนา, สิ่งที่คนอยากได้อยากพบ แสดงในแง่กามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ น่าชอบใจ แสดงในแง่โลกธรรม ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข เทียบ อนิฏฐารมณ์
อิทธิบาท : คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณเครื่องสำเร็จประสงค์, ทางแห่งความสำเร็จมี ๔ คือ ๑) ฉันทะ ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น ๒) วิริยะ ความพยายามทำสิ่งนั้น ๓) จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ๔) วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น; จำง่ายๆ ว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน
โอกาส : ช่อง, ที่ว่าง, ทาง,เวลาที่เหมาะ, จังหวะ; ในวิธีระงับอนุวาทาธิกรณ์ มีระเบียบว่า ก่อนจะกล่าวคำโจทนา คือคำฟ้องขึ้นต่อหน้าสงฆ์ โจทก์พึงขอโอกาสต่อจำเลย คำขอโอกาสว่า “กโรตุ เม อายสฺมา โอกาสํ, อหนฺตํ วตฺตุกาโม” แปลว่า “ขอท่านจงทำโอกาสแก่ข้าพเจ้าๆ ใคร่จะกล่าวกะท่าน” ถ้าโจทโดยไม่ขอโอกาส ต้องอาบัติทุกกฏ คำให้โอกาสท่านไม่ได้แสดงไว้ อาจใช้ว่า “กโรมิ อายสฺมโต โอกาสํ” แปลว่า “ข้าพเจ้าทำโอกาสแก่ท่าน”; ภิกษุพร้อมด้วยองค์ ๕ แม้จะขอให้ทำโอกาสก็ไม่ควรทำ (คือไม่ควรให้โอกาส) กล่าวคือ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้เขลา ถูกซักเข้า ไม่อาจให้คำตอบขอที่ซัก, องค์ ๕ อีกหมวดหนึ่งว่า เป็นอลัชชีเป็นพาล มิใช่ปกตัตตะ กล่าวด้วยปรารถนาจะกำจัด มิใช่เป็นผู้มีความปรารถนา ในอันให้ออกจากอาบัติ