วิญญาณ : ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รูปอารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ; วิญญาณ ๖ คือ ๑.จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา(เห็น) ๒.โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน) ๓.ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก(ได้กลิ่น) ๔.ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น(รู้รส) ๕.กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย) ๖.มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)
อุทิสสมังสะ : เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อถวายภิกษุ ท่านมิให้ภิกษุฉัน, หากภิกษุฉันทั้งได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อถวายตน ต้องอาบัติทุกกฏ
กัปปิยภูมิ : ที่สำหรับเก็บเสบียงอาหารของวัด, ครัววัด มี ๔ อย่าง คือ อุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศให้รู้แต่แรกสร้างว่าจะทำเป็นกัปปิยภูมิ คือพอเริ่มยกเสาหรือตั้งฝาก็ประกาศให้ได้ยินว่า กปฺปิยภูมึ กโรม แปลว่า เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี ๑ โคนิสาทิกา กัปปิยภูมิขนาดเล็ก เคลื่อนที่ได้ ดุจเป็นที่โคจ่อม ๑ คหปติกา เรือนของคฤหบดีเขาสร้างถวายเป็นกัปปิยภูมิ ๑ สัมมติกา กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ กุฎีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฎี แล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม ๑
กายิกสุข : สุขทางกาย เช่น ได้ยินเสียงไพเราะ ลิ้มรสอร่อย ถูกต้องสิ่งที่อ่อนนุ่ม เป็นต้น
ครุธรรม : ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ ๑.ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว ๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ ๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึง ระแวงสงสัยหรือประพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) ๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
ทิพพโสต :
หูทิพย์, ญาณพิเศษที่ทำให้ฟังอะไรได้ยินหมดตามปรารถนา ดู อภิญญา
ที่ลับหู : ที่แจ้งไม่มีอะไรบัง แต่อยู่ห่างคนอื่นไม่ได้ยิน พอจะพูดเกี้ยวกันได้
ประสก : เป็นคำเลือนมาจาก อุบาสก พระสงฆ์ครั้งก่อนมักใช้เรียกคฤหัสถ์ผู้ชาย คู่กับ สีกา แต่บัดนี้ได้ยินใช้น้อย
ปวารณา : 1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ข้อ 2.ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่าวันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือน ได้ดังนี้ “สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา; วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย; ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ. ทุติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ,..... ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ,.......” แปลวว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณกะสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม, ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดี, เอ็นดู, เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไขแม้ครั้งที่สอง.........แม้ครั้งที่สาม.......” (ภิกษุผู้มีพรรษาสูงสุดในที่ประชุมว่า อาวุโส แทน ภนฺเต)
พหุสูต :
ผู้ได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก, ผู้เล่าเรียนมาก, ผู้ศึกษามาก, ผู้คงแก่เรียน; ดู พาหุสัจจะ ด้วย
พหูสูต :
ผู้ได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก, ผู้เล่าเรียนมาก, ผู้ศึกษามาก, ผู้คงแก่เรียน; ดู พาหุสัจจะ ด้วย
พาหุสัจจะ :
ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก, ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียน มีองค์ ๕ คือ ๑.พหุสฺสุตา ได้ยินได้ฟังมาก ๒.ธตา ทรงจำไว้ได้ ๓.วจสา ปริจิตา คล่องปาก ๔.มนสานุเปกฺขิตา เจนใจ ๕.ทิฏฺยา สุปฏิวิทฺธา ขบได้ด้วยทฤษฎี ดู พหูสูต
ภวังคจิต : จิตที่เป็นองค์แห่งภพ, ตามหลักอภิธรรมว่า จิตที่เป็นพื้นอยู่ระหว่างปฏิสนธิและจุติ คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ในเวลาที่มิได้เสวยอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น แต่เมื่อใดมีการรับรู้อารมณ์ เช่น เกิดการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ก็เกิดเป็นวิถีจิตแทนภวังคจิต เมื่อวิถีจิตดับหมดไป ก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นอย่างเดิม
มูล : (ในคำว่า “อธิกรณ์อันภิกษุจะพึงยกขึ้นว่าได้นั้น ต้องเป็นเรื่องมีมูล”) เค้า, ร่องรอย, ลักษณะอาการที่ส่อว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น, เรื่องที่จัดว่ามีมูล มี ๓ อย่าง คือ เรื่องที่ได้เห็นเอง ๑ เรื่องที่ได้ยินเอง หรือผู้อื่นบอกและเชื่อว่าเป็นจริง ๑ เรื่องที่รังเกียจโดยอาการ ๑
สีกา : คำที่พระภิกษุใช้เรียกผู้หญิงอย่างไม่เป็นทางการ เลือนมาจากอุบาสิกา บัดนี้ได้ยินใช้น้อย
สุภัททะ : ปัจฉิมสิกขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ปัจฉิมสาวก เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้วคิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่าสุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ทูลถามว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด สมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะ และตรัสสรุปว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก
โสตวิญญาณ : ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะเสียงกระทบหู, เสียงกระทบหู เกิดความรู้ขึ้น, การได้ยิน
โสตสัมผัส : อาการที่หู เสียง และโสต วิญญาณประจวบกัน เกิดการได้ยิน
อินทรีย์ : ความเป็นใหญ่, สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน, ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆ เช่น ตาเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าการในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน ศรัทธาเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธาเป็นต้น 1) อินทรีย์ ๖ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 2) อินทรีย์ ๕ ตรงกับ พละ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรม ๕ อย่างชุดเดียวกันนี้ เรียกชื่อต่างกันไป ๒ อย่าง ตามหน้าที่ที่ทำ คือ เรียกชื่อว่า พละ โดยความหมายว่า เป็นกำลังทำให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง ซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้ เรียกชื่อว่า อินทรีย์ โดยความหมายว่าเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่างคือความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงงมงาย ตามลำดับ