กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ ๑.ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ ๒.ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต ๓.สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้ง ๕ ๔.ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
จีวรอธิษฐาน : จีวรครอง, ผ้าจำกัดจำนวน ๓ ผืนที่อธิษฐานคือ กำหนดไว้ใช้ประจำตัวตามที่พระวินัยอนุญาตไว้ตรงข้ามกับ อดิเรกจีวร
ยาวชีวิก :
ของที่ให้ฉันได้ไม่จำกัดเวลาตลอดชีวิต ดู กาลิก
สังฆทาน : ทานเพื่อสงฆ์, การถวายแก่สงฆ์ คือถวายเป็นกลาง ๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่น จะทำพิธีถวายของที่มีจำนวนจำกัดพึงแจ้งแก่ทางวัดให้จัดพระไปรับตามจำนวนที่ต้องการ หัวหน้าสงฆ์จัดภิกษุใดไปพึงทำใจว่า ท่านมารับในนามของสงฆ์ หรือ เป็นผู้แทนของสงฆ์ทั้งหมด ไม่พึงเพ่งเล็งว่าเป็นบุคคลใด คิดตั้งใจแต่ว่าจะถวายอุทิศแก่สงฆ์; ในพิธีพึงจุดธูปเทียนบูชาพระ อาราธนาศีล รับศีล จบแล้วตั้งนโม ๓ จบ กล่าวคำถวายเสร็จแล้วประเคนของ และเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พึงกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี; คำถวายสังฆทานว่าดังนี้ : อิมานิ มยํ ภนฺเต, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, แปลว่า : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ
อกาลิโก : พระธรรมไม่ประกอบด้วยกาล, ให้ผลไม่จำกัดกาล คือ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยกาล ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส บรรลุเมื่อใด ก็ได้รับผลเมื่อนั้น ไม่เหมือนผลไม้ที่ให้ผลตามฤดู, อีกอย่างหนึ่ง ว่าเป็นจริงอยู่อย่างไร ก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป (ข้อ ๓ ในธรรมคุณ ๖)
อริยชาติ : เกิดเป็นอริยะ คือ บรรลุมรรคผล กลายเป็นอริยบุคคล เปรียบเหมือนเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยะ, อีกอย่างหนึ่งว่า ชาติอริยะ หรือชาวอริยะ ซึ่งเป็นผู้เจริญในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงผู้กำจัดกิเลสได้ ซึ่งชนวรรณะไหน เผ่าไหน ก็อาจเป็นได้ ต่างจากอริยชาติ หรืออริยกชาติที่มีมาแต่เดิม ซึ่งจำกัดด้วยชาติคือ กำเนิด
อัปปมัญญา :
ธรรมที่แผ่ไปไม่มีประมาณหมายถึง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่แผ่ทั่วไปในมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอย่างกว้างขวางสม่ำเสมอกัน ไม่จำกัดขอบเขต มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่กล่าวแล้วนั้น ดู พรหมวิหาร