ทวัตติงสาการ : อาการ ๓๒, ส่วนประกอบที่มีลักษณะต่างๆ กัน ๓๒ อย่าง ในร่างกาย คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (อุจจาระ) มันสมอง ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ปัสสาวะ); ในขุททกปาฐะ (ฉบับสยามรัฐ) เรียงลำดับมันสมองไว้เป็นข้อสุดท้าย; ทวัตดึงสาการ หรือ ทวดึงสาการ ก็เขียน
ปฐวีธาตุ : ธาตุดิน คือธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ในร่างกายที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า; อย่างนี้เป็นการกล่าวถึงปฐวีธาตุในลักษณะที่คนสามัญทุกคนจะเข้าใจได้ และที่จะให้สำเร็จประโยชน์ในการเจริญกรรมฐาน แต่ในทางพระอภิธรรม ปฐวีธาตุเป็นสภาวะพื้นฐานที่มีอยู่ในรูปธรรมทุกอย่าง แม้แต่ในน้ำและในลมที่เรียกกันสามัญ ซึ่งรู้สึกถูกต้องได้ด้วยกายสัมผัส
ยกน : (ยะกะนะ) ตับ
ปิตตะ : น้ำดี, น้ำจากต่อมตับ, โรคดีเดือด
สัตตบริภัณฑ์ : “เขาล้อมทั้ง ๗ ” คำเรียกหมู่ภูเขา ๗ เทือก ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ หรือ สิเนรุ คือ ยุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัสสนะ เนมินธร วินตก และอัสสกัณณ์
สดับปกรณ์ : “ ๗ คัมภีร์” หมายถึงคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ ในพระอภิธรรมปิฎก เขียนเต็มว่า สัตตัปปกรณ์ (ดู ในคำว่า ไตรปิฎก)แต่ในภาษาไทยคำนี้ความหมายกร่อนลงมา เป็นคำสำหรับใช้ในพิธีกรรม เรียกกิริยาที่พระภิกษุกล่าวคำพิจารณาสังขารเมื่อจะชักผ้าบังสุกุลในพิธีศพเจ้านายว่า สดับปกรณ์ ตรงกับที่เรียกในพิธีศพทั่วๆ ไปว่า บังสุกุล (ซึ่งก็เป็นศัพท์ที่มีความหมายกร่อนเช่นเดียวกัน), ใช้เป็นคำนาม หมายถึง พิธีสวดมาติกาบังสุกุลในงานศพ ปัจจุบันใช้เฉพาะศพเจ้านาย