สาคร : ทะเล
ชลาลัย : “ที่อยู่ของน้ำ”, แม่น้ำ, ทะเล
มหรรณพ : ห้วงน้ำใหญ่, ทะเล
อุทกุกเขป : เขตสามัคคีชั่ววักน้ำสาดแห่งคนมีอายุและกำลังปานกลาง หมายถึง เขตชุมนุมทำสังฆกรรมที่กำหนดลงในแม่น้ำ หรือ ทะเล ชาตสระ (ที่ขังน้ำเกิดเองตามธรรมชาติ เช่น บึง หนอง ทะเลสาป) โดยพระภิกษุประชุมกันบนเรือ หรือ บนแพ ซึ่งผูกกับหลักในน้ำ หรือทอดสมออยู่ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ห้ามผูกโยงเรือหรือแพนั้น กับหลักหรือต้นไม้บนตลิ่ง และห้ามทำในเรือหรือแพที่กำลังลอยหรือเดิน); อุทกุกเขปนี้ จัดเป็นอพัทธสีมาอย่างหนึ่ง
ชาตปฐพี : ดินเกิดเอง, ปฐพีแท้ คือมีดินร่วนล้วน มีดินเหนียวล้วน หรือมีของอื่น เช่นหินกรวด กระเบื้อง แร่ และทรายน้อย มีดินร่วน ดินเหนียวมากดินนี้ประสงค์เอาที่ยังไม่ได้เผาไฟกองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี มีฝนตกรดเกิน ๔ เดือนมาแล้วนับเข้าในปฐพีแท้
ทัณฑกรรม : การลงอาชญา, การลงโทษ; ในที่นี้ หมายถึงการลงโทษสามเณรคล้ายกับการปรับอาบัติภิกษุ ได้แก่กักบริเวณ ห้ามไม่ให้เข้า ห้ามไม่ให้ออกจากอาราม หรือการใช้ตักน้ำ ขนฟืน ขนทราย เป็นต้น
พาหิย ทารุจีริยะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต ต่อมาพบพระพุทธเจ้า ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านตรัสรู้ฉับพลัน
พุทธบาท : รอยเท้าของพระพุทธเจ้า อรรถกถาว่าทรงประทับแห่งแรกที่บนหาดทรายฝั่งแม่น้ำนันมทา แห่งที่สองที่ภูเขาสัจจพันธคีรี นอกจากนี้ ตำนานสมัยต่อๆ มาว่ามีที่ภูเขาสุมนกูฏ (ลังกาทวีป) และเมืองโยนก รวมเป็น ๕ สถาน
โลณเภสัช : เกลือเป็นยา เช่น เกลือทะเล เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เป็นต้น
อชาตปฐพี : ปฐพีไม่แท้ คือดินที่เป็นหินเป็นกรวด เป็นกระเบื้อง เป็นแร่ เป็นทรายล้วน หรือมีดินร่วนดินเหนียวน้อย เป็นของอื่นมากก็ดี ดินที่ไฟเผาแล้วก็ดี กองดินร่วน หรือกองดินเหนียว ที่ฝนตกรดหย่อนกว่า ๔ เดือนก็ดี