พินทุกัปปะ : การทำพินทุ, การทำจุดเป็นวงกลม อย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือด ที่มุมจีวร ด้วยสีเขียวคราม โคลน หรือดำคล้ำ เพื่อทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิตามวินัยบัญญัติ และเป็นเครื่องหมายช่วยให้จำได้ด้วย; เขียนพินทุกัป ก็ได้, คำบาลีเดิมเป็นกัปปพินทุ, เรียกกันง่ายๆ ว่า พินทุ - a smudge that makes a new robe allowable; dark mark or small black dot applied to a new robe to make it lawful. v. (ทำกัปปพินทุ) to make a robe allowable by applying a disfiguring smudge (by which the owner can identify it); mark with a smudge.
รองเท้า : ในพระวินัยกล่าวถึงรองเท้าไว้ ๒ ชนิด คือ ๑.ปาทุกา แปลกันว่าเขียงเท้า (รองเท้าไม้หรือเกี๊ยะ) ซึ่งรวมไปถึงรองเท้าโลหะ รองเท้าแก้ว หรือรองเท้าประดับแก้วต่างๆ ตลอดจนรองเท้าสาน รองเท้าถักหรือปักต่างๆ สำหรับพระภิกษุห้ามใช้ปาทุกาทุกอย่าง ยกเว้นปาทุกาไม้ที่ตรึงอยู่กับที่สำหรับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะและเป็นที่ชำระ ขึ้นเหยียบได้ ๒.อุปาหนา รองเท้าสามัญ สำหรับพระภิกษุทรงอนุญาตรองเท้าหนังสามัญ (ถ้าชั้นเดียว หรือมากชั้นแต่เป็นของเก่าใช้ได้ทั่วไป ถ้ามากชั้นเป็นของใหม่ ใช้ได้เฉพาะแต่ในปัจจันตชนบท) มีสายรัด หรือใช้คีบด้วยนิ้ว ไม่ปกหลังเท้า ไม่ปกส้น ไม่ปกแข็ง นอกจากนั้น ตัวรองเท้าก็ตาม หูหรือสายรัดก็ตาม จะต้องไม่มีสีที่ต้องห้าม (คือ สีขาบ เหลือง แดง บานเย็น แสด ชมพู ดำ) ไม่ขลิบด้วยหนังสัตว์ที่ต้องห้าม (คือ หนังราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ชะมด นาค แมว ค่าง นกเค้า) ไม่ยัดนุ่น ไม่ตรึงหรือประดับด้วยขนนกกระทาขนนกยูง ไม่มีหูเป็นช่อดังเขาแกะเขาแพะหรือง่ามแมลงป่อง
ฟั่นเฝือ : เคลือบคลุม, พัวพันกัน, ปนคละกัน, ยุ่ง
อวหาร : การลัก, อาการที่ถือว่าเป็นการลักทรัพย์ ในอรรถกถาแสดงไว้ ๒๕ อย่าง พึงทราบในที่นี้ ๑๓ อย่าง คือ ๑) ลัก ๒) ชิงหรือวิ่งราว ๓) ลักต้อน ๔) แย่ง ๕) ลักสับ ๖) ตู่ ๗) ฉ้อ ๘) ยักยอก ๙) ตระบัด ๑๐) ปล้น ๑๑) หลอกลวง ๑๒) กดขี่หรือกรรโชก ๑๓) ลักซ่อน