กายคตาสติ : สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากายให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา
กายคติ : สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากายให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา
กุกกุจจะ : ความรำคาญใจ, ความเดือดร้อนใจ เช่นว่า สิ่งดีงามที่ควรทำ ตนมิได้ทำ สิ่งผิดพลาดเสียหายไม่ดีไม่งาม ที่ไม่ควรทำ ตนได้ทำแล้ว, ความยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ, ความรังเกียจหรือกินแหนงในตนเอง, ความระแวงสงสัย เช่นว่า ตนได้ทำความผิดอย่างนั้นๆ แล้วหรือมิใช่ สิ่งที่ตนได้ทำไปแล้วอย่างนั้นๆ เป็นความผิดข้อนี้ๆ เสียแล้วกระมัง
ครุธรรม : ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ ๑.ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว ๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ ๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึง ระแวงสงสัยหรือประพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) ๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
ฉายาปาราชิก : เงาแห่งปาราชิก คือ ประพฤติตนในฐานะที่ล่อแหลมต่อปาราชิก อาจเป็นปาราชิกได้ แต่จับไม่ถนัด เรียกว่าฉายาปาราชิก เป็นผู้ที่สงฆ์รังเกียจ
ปฏิกูล : น่าเกลียด, น่ารังเกียจ
มูล : (ในคำว่า “อธิกรณ์อันภิกษุจะพึงยกขึ้นว่าได้นั้น ต้องเป็นเรื่องมีมูล”) เค้า, ร่องรอย, ลักษณะอาการที่ส่อว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น, เรื่องที่จัดว่ามีมูล มี ๓ อย่าง คือ เรื่องที่ได้เห็นเอง ๑ เรื่องที่ได้ยินเอง หรือผู้อื่นบอกและเชื่อว่าเป็นจริง ๑ เรื่องที่รังเกียจโดยอาการ ๑
วินัยมุข : มุขแห่งวินัย, หลักใหญ่ๆ หรือหัวข้อสำคัญๆ ทีเป็นเบื้องต้นแห่งพระวินัย หรือเป็นปากทางนำเข้าสู่วินัยเป็นชื่อหนังสือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนาขึ้น เพื่อชี้ประโยชน์แห่งพระวินัยมุ่งช่วยให้พระภิกษุสามเณรตั้งอยู่ในปฏิบัติพองาม ผู้ไม่เคร่งจะได้รู้จักสำรวมรักษามรรยาทสมเป็นสมณะฝ่ายผู้เคร่งครัดเกินไปจะได้หายงมงาย ไม่สำคัญตนว่าดีกว่าผู้อื่น ตั้งรังเกียจผู้อื่นเพราะเหตุผลเล็กน้อย เพียงสักว่าธรรมเนียมหรือแม้ชักนำผู้อื่นในปฏิบัติอันดี ต่างจะได้อานิสงส์คือไม่มีวิปฏิสาร; ทรงมุ่งหมายเพื่อจะแต่งแก้หนังสือบุพพสิกขาวัณณนาของพระอมราภิรักขิต (อมร เกิด) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส; จัดพิมพ์เป็น ๓ เล่ม ใช้เป็นแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ตามลำดับ