สตฺถา เทวมนุสฺสานํ : ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, ทรงเป็นครูของบุคคลทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ, ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติของครูและทรงทำหน้าที่ของครูเป็นอย่างดี คือทรงพร่ำสอนด้วยมหากรุณาหวังให้ผู้อื่นได้ความรู้อย่างแท้จริง, ทรงสอนมุ่งความจริงและประโยชน์เป็นที่ตั้ง ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ด้วยประโยชน์ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ, ทรงรู้จริงและปฏิบัติด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติตาม ทรงทำกับตรัสเหมือนกัน ไม่ใช่ตรัสสอนอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง, ทรงฉลาดในวิธีสอน, และทรงเป็นผู้นำหมู่ดุจนายกองเกวียน (ข้อ ๗ ในพุทธคุณ ๙)
แผ่เมตตา : ตั้งจิตปรารถนาดีขอให้ผู้อื่นมีความสุข; คำแผ่เมตตาที่ใช้เป็นหลักว่า สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ แปลว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย, (ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน) หมดทั้งสิ้น, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจเลย, จงมีความสุขกายสุขใจ, รักษาตน (ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น) เถิด.ข้อความในวงเล็บ เป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาในคำแปลเป็นภาษาไทย
พุทธคุณ : คุณของพระพุทธเจ้า มี ๙ คือ ๑.อรหํ เป็นพระอรหันต์ ๒.สมฺมาสมฺพุทฺโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ ๓.วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ๔.สุคโต เสด็จไปดีแล้ว ๕.โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก ๖.อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า ๗.สตฺถาเทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ๘.พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว ๙.ภควา เป็นผู้มีโชค พุทธคุณทั้งหมดนั้น โดยย่อ มี ๒ คือ ๑.พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา ๒.พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา หรือตามที่นิยมกล่าวกันในประเทศไทย ย่อเป็น ๓ คือ ๑.พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา ๒.พระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์ ๓.พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา
สัตติกำลัง : ในคำว่า “ตามสัตติกำลัง” แปลว่า ตามความสามารถ และตามกำลัง หรือตามกำลังความสามารถ (สัตติ = ความสามารถ) มาจากคำบาลีว่า ยถาสตฺติ ยถาพลํ; พูดเพี้ยนกันไปเป็น ตามสติกำลัง ก็มี
ใบปวารณา : ใบแจ้งแก่พระว่าให้ขอได้ตัวอย่าง “ข้าพเจ้าขอถวายจตุปัจจัยอันควรแก่สมณบริโภค แต่พระคุณเจ้า เป็นมูลค่า....บาท......สต.หากพระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใดอันควรแก่สมณบริโภคแล้ว ขอได้โปรดเรียกร้องจากกัปปิยการก ผู้ปฏิบัติของพระคุณเจ้า เทอญ