ปลิโพธ : เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ใจพระวักพะวนห่วงกังวล, เหตุกังวล, ข้อติดข้อง; ปลิโพธที่ผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งพร้อมที่จะเจริญกรรมฐานให้ก้าวหน้าไปได้ดี มี ๑๐ อย่าง คือ ๑.อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่ ๒.กุลปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฏฐาก ๓.ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ ๔.คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ ๕.กรรมปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่น การก่อสร้าง ๖.อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื่องด้วยกิจธุระ ๗.ญาติปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วงซึ่งกำลังเจ็บป่วยเป็นต้น ๘.อาพาธปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง ๙.คันถปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน ๑๐.อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม (ข้อท้ายนี้เป็นปลิโพธสำหรับผู้จะเจริญวิปัสสนาเท่านั้น)
ลูกถวิน : ลูกกลมๆ ที่ผูกติดสายประคดเอว, ห่วงร้อยสายรัดประคด
วิตก : ความตรึก, ตริ, การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือปักจิตลงสู่อารมณ์ (ข้อ ๑ ในองค์ฌาน ๕), การคิด, ความดำริ; ไทยใช้ว่าเป็นห่วงกังวล
อาวาสปลิโพธ :
ความกังวลในอาวาส คือ ภิกษุยังอยู่ในอาวาสนั้น หรือหลีกไปแต่ยังผูกใจอยู่ว่าจะกลับมา (เป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้กฐินยังไม่เดาะ); ในการเจริญกรรมฐาน หมายถึงความห่วงใยกังวลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ห่วงงานก่อสร้างในวัด มีสิ่งของที่สะสมเอาไว้มาก เป็นต้น เมื่อจะเจริญกรรมฐาน พึงตัดปลิโพธนี้ให้ได้ ดู ปลิโพธ
มัจฉริยะ : ความตระหนี่, ความหวง (ข้อ ๔ ใน มละ ๙), มัจฉริยะ ๕ คือ ๑.อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ๒.กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล ๓.ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ๔.วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ ๕.ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม
ลาภมัจฉริยะ : ตระหนี่ลาภ ได้แก่ หวงผลประโยชน์ พยายามกีดกันผู้อื่นไม่ให้ได้ (ข้อ ๓ ในมัจฉริยะ ๕)
วัณณมัจฉริยะ : ตระหนี่วรรณะ คือหวงผิวพรรณ ไม่พอใจให้คนอื่นสวยงาม หรือหวงคุณวัณณะ ไม่พอใจให้ใครมีคุณความดีมาแข่งตน (ข้อ ๔ ในมัจฉริยะ ๕)
อาลัย : 1) ที่อยู่, ที่อาศัย, แหล่ง 2) ความมีใจผูกพัน, ความเยื่อใย, ความติดใจปรารถนา, ความพัวพัน, มักหมายถึงตัณหา; ในภาษาไทยใช้ว่าห่างใย หวงคิดถึง
อิสสา : ความริษยา, ความรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นเขาไดดี, เห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้, ไม่อยากให้ใครดีกว่าตน, ความคิดตัดรอนผู้ที่ดีกว่าตน; ความหึงหวง (ข้อ ๓ ในมละ ๙, ข้อ ๗ ในอุปกิเลส ๑๖)