ออม : ก. เก็บหอมรอมริบ เช่น ออมทรัพย์ ออมสิน; ถนอม, สงวน, เช่น ออมแรง.
ออมครอม : [คฺรอม] ว. รุ่มร่าม, ไม่รัดกุม.
ทำนาออมกล้า ทำปลาออมเกลือ : (สํา) ก. ทําการสิ่งใดถ้ากลัว หมดเปลืองย่อมไม่ได้ผลสมบูรณ์.
อ่อม : น. ชื่อแกงชนิดหนึ่ง คล้ายแกงคั่ว แต่ใส่มะระ มักใช้แกงกับปลาดุก เรียกว่า แกงอ่อมมะระ หรือ แกงอ่อมมะระปลาดุก.
เก็บ ๑ : ก. เอาไปหรือเอามาจากที่ เช่น เก็บผ้า เก็บผลไม้, เอาเข้าที่ เช่น เอาหนังสือไปเก็บ เอารถไปเก็บ, เอาสิ่งของที่ตกหล่นอยู่ขึ้นมา เช่น เก็บของตก, รวบรวมไว้ เช่น เก็บคะแนน, เรียกเอา เช่น เก็บค่าเช่า เก็บค่าน้ำ, รักษาไว้ เช่น ห้องเก็บของ. ว. ถ้าประกอบหลังคํานามหมายความว่า ที่เก็บไว้ เช่น ของเก็บ = ของที่เก็บไว้, เงินเก็บ = เงินที่ออมเก็บไว้, เมียเก็บ = เมียที่เก็บไว้ไม่ออกหน้าออกตา, หมากเก็บ = สิ่งที่เป็นเม็ด เป็นก้อนแข็ง เด็กใช้โยนเก็บขึ้นไว้ในมือ เป็นการเล่นชนิดหนึ่งของเด็ก.
บรรทับ : [บัน-] (โบ; กลอน) ก. ประทับ เช่น ถนอมบรรทับออมชม ทราบเนื้อ. (ทวาทศมาส).
เศรษฐศาสตร์ : [เสดถะสาด] น. วิชาว่าด้วยการผลิต การจําหน่าย จ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ของชุมชนมี ๒ สาขา คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ภาคที่ศึกษาปัญหา เศรษฐกิจส่วนเอกชน หรือ ปัญหาการหาตลาดเป็นต้น และ เศรษฐศาสตร์มหัพภาค ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ภาคที่ศึกษาปัญหา เศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม เช่น ปัญหาเรื่องรายได้ของ ประชาชาติ การออมทรัพย์ของประชากร ปัญหาการลงทุน.
สหกรณ์ : น. งานร่วมมือกัน เช่นทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เพื่อหา กําไรหรือเพื่อประโยชน์อื่น ๆ ในงานนั้น ๆ ร่วมกัน, (กฎ) คณะบุคคล ซึ่งร่วมกันดําเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์.