กรรมวิปากญาณ : ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม แม้จะมีกรรมต่างๆ ให้ผลอยู่มากมายซับซ้อน ก็สามารถแยกแยะ ล่วงรู้ได้ว่าอันใดเป็นผลของกรรมใด
จตุธาตุววัตถาน : การกำหนดธาตุ ๔ คือ พิจารณาร่างกายนี้ แยกแยะออกไปมองเห็นแต่ส่วนประกอบต่างๆ ที่จัดเข้าไปในธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ทำให้รู้ภาวะความเป็นจริงของร่างกาย ว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเท่านั้น ไม่เป็นตัวสัตว์บุคคลที่แท้จริง
โยนิโสมนสิการ : การทำในใจโดยแยบคาย, กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย, การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริงโดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยหรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา, ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี
วิภัชชวาที : “ผู้กล่าวจำแนก”, “ผู้แยกแยะพูด”, เป็นคุณบทคือคำแสดงคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงแสดงธรรมแยกแจกแจงออกไป ให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบย่อยๆ มาประชุมกันเข้าอย่างไร เช่น แยกแยะกระจายนามรูปออกเป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายมีด้านที่เป็นคุณและด้านที่เป็นโทษอย่างไร เรื่องนั้นๆ มีข้อจริงข้อเท็จอะไรบ้าง การกระทำอย่างนั้นๆ มีแง่ถูกแง่ผิดแง่ที่ดีและแง่ไม่ดีประการใด เป็นต้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งนั้นเรื่องนั้นอย่างชัดเจน มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง เช่นมองเห็นความเป็นอนัตตา เป็นต้น ไม่มองอย่างตีคลุมหรือเห็นแต่ด้านเดียวแล้วยึดติดในทิฏฐิต่างๆ อันทำให้ไม่เข้าถึงความจริงแท้ตามสภาวะ