สาคร : ทะเล
ชลาลัย : “ที่อยู่ของน้ำ”, แม่น้ำ, ทะเล
มหรรณพ : ห้วงน้ำใหญ่, ทะเล
อุทกุกเขป : เขตสามัคคีชั่ววักน้ำสาดแห่งคนมีอายุและกำลังปานกลาง หมายถึง เขตชุมนุมทำสังฆกรรมที่กำหนดลงในแม่น้ำ หรือ ทะเล ชาตสระ (ที่ขังน้ำเกิดเองตามธรรมชาติ เช่น บึง หนอง ทะเลสาป) โดยพระภิกษุประชุมกันบนเรือ หรือ บนแพ ซึ่งผูกกับหลักในน้ำ หรือทอดสมออยู่ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ห้ามผูกโยงเรือหรือแพนั้น กับหลักหรือต้นไม้บนตลิ่ง และห้ามทำในเรือหรือแพที่กำลังลอยหรือเดิน); อุทกุกเขปนี้ จัดเป็นอพัทธสีมาอย่างหนึ่ง
พาหิย ทารุจีริยะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต ต่อมาพบพระพุทธเจ้า ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านตรัสรู้ฉับพลัน
โลณเภสัช : เกลือเป็นยา เช่น เกลือทะเล เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เป็นต้น
อถัพพนเพท : ชื่อคัมภีร์พระเวทลำดับที่ ๔ ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ การปลุกเสกต่างๆ เป็นส่วนเพิ่มเข้ามาต่อจาก ไตรเพท, อาถัพพนเวท อถรรพเวท อาถรรพณเวท ก็เขียน
วิกุพพนฤทธิ์ : ฤทธิ์คือการแผลง, ฤทธิ์บิดผัน, ฤทธิ์ผันแผลง คือ เปลี่ยนจากรูปร่างปกติ แปลงเป็นเด็ก เป็นครุฑ เป็นเทวดา เป็นเสือ เป็นงู เป็นต้น (ต้องห้ามทางพระวินัย)
อทิสสมานกาย : กายที่มองไม่เห็น, ผู้มีกายไม่ปรากฏ, ไม่ปรากฏร่าง, มองไม่เห็นตัว กล่าวคือ เป็นวิสัยของผู้มีฤทธิ์บางประเภท (วิกุพพนฤทธิ์) อาจทำการบางอย่างโดยไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นร่างกาย; อีกอย่างหนึ่ง เป็นความเชื่อของพราหมณ์ว่าบรรพบุรุษที่ตายไป มีถิ่นเป็นที่อยู่เรียกว่าปิตฤโลก ยังทรงอยู่ด้วยเป็นอทิสสมานกาย ความเชื่อนี้คนไทยก็รับมาแต่ให้บรรพบุรุษเหล่านั้น คงอยู่ที่บ้านเรือนเดิม อย่างที่เรียกว่า ผีเรือน